แห่งชาติประวัติความเป็นมาเป็นอย่างไร เรามีข้อมูลมาฝาก
การศึกษาคือรากฐานสำคัญของการพัฒนา และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติด้วยเหตุนี้ราชการจึงได้กำหนด วันประถมศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นระดับการศึกษาในขั้นต้นขึ้น เพื่อให้ทุกคนตระหนักและเห็นความสำคัญของการศึกษา วันนี้เรามีเรื่องราวเกี่ยวกับวันประถมศึกษาแห่งชาติมาฝากกันค่ะ
ความเป็นมาของวันประถมศึกษาแห่งชาติ
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ขึ้น เพื่อกำหนดให้เด็กที่มีอายุ 7 ปี บริบูรณ์ทุกคนต้องเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุครบ 14 ปี บริบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และมีผลบังคับใช้ใน
วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2464 กระทรวงศึกษาจึงได้กำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันประถมศึกษาแห่งชาติ และได้จัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติเป็นประจำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491-2509 ต่อมาโรงเรียนประถมศึกษาได้ถูกโอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่นั้นมางานวันประถมศึกษาแห่งชาติจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วันศึกษาประชาบาล
กระทั่งในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2523 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาขึ้น
จึงได้โอนโรงเรียนประชาบาลกลับมาสังกัดคณะกรรมการการศึกษา การจัดงานวันศึกษาประชาบาล
จึงสิ้นสุดลง และกลับมาจัดวันประถมศึกษาแห่งชาติขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้เปลี่ยนจากวันที่ 1 ตุลาคม มาเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึงตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวแทน เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนการประถมศึกษาและพระราชทานตราพระราชบัญญัติ อีกทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ในคราเดียวกันกับวันวชิราวุธ
ที่ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ดังนั้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา วันประถมศึกษาแห่งชาติ
จึงถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี
จุดประสงค์ของวันประถมศึกษาแห่งชาติ
1. เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงวางรากฐานการศึกษาของไทย
2. เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้งานด้านประถมศึกษาแก่ผู้ที่สนใจ จนนำไปสู่การพัฒนาด้าน
การเรียนการสอน
3. เพื่อปลูกฝัง และให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนตลอดจนส่วนที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันเข้ามามี
ส่วนร่วมในการจัดการประถมศึกษา
4. เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะของนักเรียนระดับประถมศึกษา
5. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียน การสอนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ลำดับการพัฒนาวงการศึกษาของไทย
ตั้งแต่สมัยสุโขทัย การเรียนหนังสือและถ่ายทอดสรรพวิชาต่าง ๆ จะสอนกันภายในวัง วัด หรือบ้าน แต่ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริที่จะให้คนไทยมีความรู้วิทยาการสมัยใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกในพระบรมมหาราชวังในปี พ.ศ. 2414 คือโรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก
ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์
และขนบธรรมเนียมราชการ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง
โรงเรียนหลวงสำหรับราษฎร์ขึ้นเป็นครั้งแรก คือโรงเรียนวัดมหรรณพาราม และมี
โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย
จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสร้างในปี พ.ศ. 2453
ขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" และโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา
พ.ศ. 2464 ซึ่งเป็นการกำหนดการศึกษาภาคบังคับขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้เด็กทุกคนรู้หนังสือ
โดยกำหนดให้เด็กที่มีอายุ 7-14 ปีบริบูรณ์ ต้องเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียน โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน นอกจากนี้ยังทรงตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นตามท้องที่ต่าง ๆ โดยมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแล
กิจกรรมในวันประถมศึกษาแห่งชาติ
ในโรงเรียนต่าง ๆ จะจัดนิทรรศการเผยแพร่พระเกียรติประวัติและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อวงการศึกษาไทย
นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการศึกษาของไทย วิวัฒนาการการศึกษา
จัดกิจกรรมเสริมความรู้ และทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้แก่นักเรียน รวมทั้งจัดประชุม
และสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับการศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาวงการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การศึกษาของไทยจะมีประสิทธิภาพเพียงใด ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของแต่ละคนที่
จะช่วยกันพัฒนาให้วงการศึกษาไทยเจริญก้าวหน้า ดังพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงมองการณ์ไกลและประกอบพระราชกรณียกิจมากมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
วันประถมศึกษาแห่งชาติจึงเป็นอีกวันหนึ่งที่จะชวนให้เรารำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ
พระมหากษัตริย์ไทยที่มีต่อวงการศึกษาของไทย และเป็นการปลุกจิตสำนึกของชาวไทย
ให้เห็นความสำคัญของการศึกษา
อ้างอิง
http://www.scoutthailand.org/index.php?option=com_content&view=article&id=51&Itemid=79
https://hilight.kapook.com/view/31269
https://www.google.com/search?q=%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%96%E0%B8%A1%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4&rlz=1C1OKWM_thTH775TH775&sxsrf=ACYBGNQlauUZZTdE6sWSolE5DbcEdGgL4A:1581790538924&source=lnms&tbm=isch&sa=X&ved=2ahUKEwiW3bn5lNTnAhWOzjgGHe94DEEQ_AUoAXoECA4QAw&biw=1366&bih=657#imgrc=iOvqKoVSgaZnNM
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น